วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

14 สุดยอดแนวทางการบริหารองค์กรของสตีฟ จ๊อปส์

       *วิธีการบริหารองค์กร และตัดสินใจของ “จ๊อปส์” ที่นักบริหารทั่วโลกยอมซูฮก
      
       *การบริหาร - จัดการที่ทำให้คู่แข่งสยบในความสามารถ
      
       *ความเชื่อมโยงและบูรณาการของการบริหาร วิธีคิด ไปจนถึงการออกสินค้า
      
       *14 แนวทางการบริหารที่สำคัญของอัจฉริยะด้านไอที
      
       ในวงการนักบริหารระดับโลก มีนักบริหารที่เก่งฉกาจชนิดหาตัวจับได้น้อยคนยิ่งนัก แต่ในบรรดานักบริหารที่แทบนับนิ้วได้นั้น มีนักบริหารที่เป็นทั้ง CEO และ CIO และ CCO และ COO เพียงคนเดียวเท่านั้นที่คนทุกคนยอมสยบ และยกนิ้วให้ในความสามารถ
      
       คนๆ นั้นคือ สตีฟ จ๊อปส์ (Steve Jobs)
      
       ชื่อของจ๊อบส์ ยังคงเป็นข่าวในหน้าหนึ่งของสื่อมวลชนทุกแขนง ในเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่แข่งของเขา และเป็นบุคคลที่น่ากลัวสำหรับทุกคนในซิลิคอน วัลเลย์
      
       นั่นคงเป็นเพราะว่าจ๊อบส์ เป็นนักบริหารที่สามารถสยบและทำให้คู่แข่งยอมก้มหัวให้ในความสามารถ ความยิ่งใหญ่ของการบริหารจัดการ และทำให้เกิดกรอบแนวคิดใหม่ในสไตล์ของสตีฟ จ๊อบส์ขึ้น
      
       ทำให้คนอยากรู้ว่า แนวทางการบริหารของเขาเป็นอย่างไร
      
       “จ๊อบส์” เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฟอร์จูนไว้ว่าเขาไม่ได้เป็น CIO แบบดั้งเดิมที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการไอที เพราะสไตล์การบริหารของเขาเชื่อมโยงและบูรณาการออกไปมากมาย แม้ว่าคำที่เขาใช้อาจจะไม่ได้ประหลาดหรือเป็นภาษาต่างดาวอย่างที่หลายคนคาดหมาย
      
       สิ่งที่ สตีฟ จ๊อบส์ให้สัมภาษณ์สรุปได้ 14 ประเด็น ดังนี้
      
       1.SWOT Analysis เป็นสิ่งแรกที่เขาดำเนินการเมื่อเข้าไปทำหน้าที่ CIO ในองค์กร ด้วยการค้นหาทะเบียนรายการจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กรและของตนเอง และนำประเด็นที่ค้นพบไปเรียงลำดับความสำคัญ เป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากนั้น เขาก็วางแผนและดำเนินการในการกำจัดจุดอ่อนทั้งของตนเองและของกิจการออกไปให้หมดด้วยเทคนิคและเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งถ้าจุดอ่อนเหล่านี้ยังไม่หมดไป เขาจะยังไม่ก้าวไปข้างหน้าและไม่รุกธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างเด็ดขาด
      
       2.ทำการระบุโอกาสทางธุรกิจ หลังจากที่มีความเชื่อมั่นแล้วว่าจุดอ่อนที่ยังคงหลงเหลืออยู่จะไม่ทำร้ายและขัดขวางการเติบโตทางธุรกิจในระยะต่อไป สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับแอปเปิลคือ ผู้คนมีมือถือกันอย่างขวางขวางก็จริง แต่ผู้คนเหล่าหนี้เกลียดมือถือ เพราะไม่ทำให้คนใช้งานสนุกสนานและมีความสุข ซึ่งตรงกับเป้าหมายเบื้องต้นในส่วนของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) เพราะไอทีมีหน้าที่ปรับปรุงคุณภาพการใช้งานของอุปกรณ์ไอทีในจุดที่ยังมีโอกาสเปิดอยู่
      
       แต่การบรรลุเพียงเป้าหมายดังกล่าวไม่เพียงพอ ไอทียังต้องทำให้สภาพแวดล้อมของการใช้งานอุปกรณ์ไอทีเปลี่ยนแปลงไปอย่างสอดคล้องกับโอกาสทางธุรกิจและทำให้สิ่งที่คิดไว้เป็นความจริงในทางปฏิบัติ
      
       3.ปรับปรุงผลิตภาพการทำงาน คุณภาพของผลิตภัณฑ์ เป็นขั้นตอนที่จะเริ่มดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ ไอทีรู้แล้วว่าผู้คนต้องการอะไร และกลับมาตอบคำถามว่าแล้วไอทีต้องการให้อะไรกับผู้คน
      
       ในฐานะของ CIO จ๊อบส์แนะนำว่าควรจะถามตนเองมากกว่าว่าจะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มผลิตภาพ คุณภาพ ศักยภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยปรับปรุงการใช้งานอุปกรณ์ไอทีของลูกค้าเป้าหมายได้
      
       หนทางที่จ๊อบส์ใช้ในการหาปลายทางของอุโมงค์ความคิดมาจากการมองให้ไกลถึงขอบฟ้า แสวงหาตัวช่วยให้ได้ข้อสรุป อาจจะเป็นเรื่องของการระดมความคิดจากทีมงาน ออกไปพบผู้ค้า เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากเพียงพอ และตกผลึก
      
       4.ทำการวางกลยุทธ์ไอที หรือกลยุทธ์ทางธุรกิจ ในกรณีของจ๊อบส์ เขาระบุว่าเขาไม่เคยทำการวิจัยทางการตลาดและไม่เคยใช้ที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียง แต่อาศัยการดำเนินการไปตามสัญชาติญาณของตนเอง ที่คิดว่าได้วางกรอบและกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
      
       นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าการทำวิจัยหรือสำรวจทางการตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาจจะทำให้การดำเนินงาน และการตัดสินใจไขว้เขวจนหลงทางมากกว่า เขาเชื่อในสโลแกนของไนกี้ที่ว่า Just Do It หรือจะทำอะไรก็ลงมือทำเลย
      
       5.การทำในสิ่งที่เป็นความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของกิจการ ซึ่งในกรณีของแอปเปิลก็คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะเจาะและสอดคล้องต้องกันระหว่างระบบปฏิบัติการที่เป็นส่วนของซอฟต์แวร์กับส่วนของฮาร์ดแวร์ที่แอปเปิลมีอยู่แล้ว ที่ผลักดันและเอื้ออำนวยให้สามารถปรับปรุง หามุมมองที่เป็นนวัตกรรม คิดแบบนอกกรอบเดิมๆ โดยไม่ต้องไปรอให้ยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์นำทางให้ก่อน
      
       จุดนี้เป็นส่วนที่จ๊อบส์ระบุว่าทำให้แอปเปิลแตกต่างและรุดหน้าไปมากกว่ากิจการรายอื่นอย่าง เอชพี หรือ เดลล์ และผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่มักจะรอพัฒนาการทางเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ก่อนเสมอ
      
       ในฐานะ CIO สิ่งที่จ๊อปส์คิดอยู่ตลอดเวลาคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ไอทีเป็นจุดพึ่งพาได้ในการสร้างการเติบโตของกิจการ และเสริมสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน เขาสร้างมอตโต้ของตนเองขึ้นมาใหม่ว่า Leveraging IT to Competitive Advantage ซึ่งการที่จะทำให้มอตโต้นี้เป็นจริงได้ เขาจะต้องมั่นใจว่าการตัดสินใจของไอที ได้ผ่านการกลั่นกรองและทบทวนอย่างระมัดระวังแล้ว
      
       6. การวางแผนสร้างทายาทและผลักดันชื่อเสียง ด้วยการสร้างทีมงานทั้งทีมให้เป็นทีมที่ดี แข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เฉพาะตัวของเขาเองเพียงลำพัง ด้วยการทำให้ทุกคนในทีมเป็นทายาททางธุรกิจของกิจการทุกคน
      
       ด้วยสไตล์การบริหารแบบนี้ จึงไม่ใช่เจ้านายที่ง่าย อะไรก็ได้ ไม่เข้มงวด เพราะหากทำเช่นนั้น จะไม่ทำให้เกิดทายาทที่เข้มแข็งอย่างที่เขาต้องการ
      
       สิ่งที่ทำให้แผนการสร้างและพัฒนาสมรรถนะของทายาททางธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จมาจากการที่เขาผลักดันและกดดัน และสร้างความเครียดให้กับทุกคนในทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ทุกคนต้องปรับปรุงตัวดีขึ้น
      
       นอกจากนั้น จ๊อบส์บอกว่าเขามีหน้าที่ในการรวบรวมและผลักดันชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายอยู่ในจุดโน้นจุดนี้ขององค์กรเข้ามาให้เป็นภาพรวม เพื่อให้เห็นทิศทางที่จะก้าวต่อไปอย่างชัดเจน และทุ่มเททรัพยากรที่มีไปให้กับโครงการที่เกี่ยวข้องนั้นๆ
      
       ดังนั้น สิ่งที่จ๊อบส์คิดว่าเขาควรจะทำคือการเป็นผู้ประสาน อำนวยความสะดวก แผ้วถางทาง และนำเอาบุคลากรทุกคนมาร่วมแรงร่วมใจกัน ทำงานร่วมกันไปสู้ป้าหมายเดียวกัน
      
       การให้ความสำคัญกับทายาททางธุรกิจของจ๊อบส์ มาจากความเชื่อว่าทุกอย่างต้องดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าใครจะไปใครจะมาก็ตาม ต้องไม่กระทบต่อการเติบโตของแอปเปิล
      
       7.การมุ่งเน้นและใส่ใจ ทุ่มเทไม่ท้อถอย ซึ่งในความหมายของจ๊อบส์คำว่า focus ลึกซึ้งกว่าคนอื่นมาก เพราะไม่ได้หมายความเพียงการเลือกที่จะทำในทางเลือกใดทางเหลือหนึ่ง สำหรับเขา การ focus หมายถึงการยอมสละหรือละทิ้งทางเลือกอื่นๆ อีกนับร้อยนับพันทางเลือกเพื่อเลือกเพียงทางเลือกเดียว ซึ่งเขาระบุว่าเขาจะระมัดระวังขั้นตอนนี้อย่างมาก เพราะหากคิดผิด เลือกผิด หมายถึงความล้มเหลวของกิจการเลยทีเดียว
      
       การเลือกในขั้นตอนนี้คือ การตัดสินใจบนข้อมูลที่มั่นใจว่าคุ้มค่า มีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นจากการทุ่มเท มุ่งมั่นในโครงการนั้นๆ หากยังไม่ชัดเจน หรือเพียงแต่น่าจะดี เขาจะไม่ตัดสินใจตัดทางเลือกอื่นโดยเด็ดขาด
      
       8.การซื้อสมรรถนะส่วนที่ขาดอย่างไม่ลังเล เพราะการที่จะเติบโตและก้าวหน้าไปในอนาคตได้ จะต้องมั่นใจว่ามีสมรรถนะอย่างเพียงพอ และเป็นสมรรถนะที่อยู่ในระดับอัจฉริยะ ไม่ใช่แค่พื้น ๆ
      
       ในการเลือกบรรดาอัจฉริยะมาร่วมงาน เขายังเลือกด้วยการคัดเฉพาะคนที่ตกหลุมรักและอยากจะทำงานกับแอปเปิลจริงๆ อย่างที่เขาใช้คำว่า Fall in love with APPLE ไม่ใช่แค่ผ่านมาแวะดู และไม่เอาจริงเอาจัง
      
       ในฐานะของ CIO เขามีความจำเป็นต้องไว้วางใจในสัญชาตญาณของคนของเขาด้วย บุคลากรแต่ละคนจะได้รับผลตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน เฉพาะส่วนที่ทำงานให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ได้ ซึ่งเขาจะให้ความสำคัญเรื่องนี้ในการสรรหา และจะคัดกรองด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ได้เฉพาะคนที่เข้ากับวัฒนธรรมของแอปเปิลได้ ทำงานอย่างมีความสุขได้ และปรับตัวให้เหมาะสมกับงานที่แอปเปิลได้
      
       9. ทำความรู้จักกับโมเดลธุรกิจของกิจการและปรับเปลี่ยนสู่สิ่งที่ดีกว่า การทำความรู้จักในที่นี้ของจ๊อบส์มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก เพราะเมื่อเข้าใจแล้วต้องกำหนดวาระระดับยุทธศาสตร์ได้ และมีเป้าประสงค์ที่คงที่ อย่างน้อย 80% ต้องเหมือนกับสัปดาห์ที่แล้ว และดำเนินงานไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้
      
       ความเป็น CIO ทำให้จ๊อบส์ และหน่วยงานไอทีทั้งหมดของเขา ทำความเข้าใจอยู่ตลอดเวลาว่าโมเดลธุรกิจ รูปแบบการดำเนินงานของแอปเปิลเป็นอย่างไร และนำมาทบทวนให้เห็นภาพเพื่อที่จะได้สามารถค้นหาและประเมินโอกาสทางธุรกิจที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำเสนอให้ผู้บริหารพิจารณา
      
       10. การจัดการกับอุปสรรคและสิ่งกีดขวาง ทันทีที่ฝ่ายไอทีตัดสินใจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร หรือปรับรูปแบบและวิธีการกดปุ่มใหม่ด้วยไอเดียที่มั่นใจแล้ว และรู้ด้วยว่าจะส่งผลกระทบต่อทุกอณูในโมเดลธุรกิจและวิธีการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร ซึ่งรูปแบบที่ตกผลึกมาแล้วของไอที คือ “ไอโฟน” ที่ทำให้มือถือเป็นอุปกรณ์ที่ดีกว่าเดิมอย่างมากมาย
      
       บทบาทของ CIO อย่างจ๊อบส์ ก็คือ จะใช้จังหวะไหนที่เหมาะสมที่จะนำเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือพูดแบบตรงไปตรงมาคือการแทรกแซงโมเดลเดิมๆ ซึ่งแน่นอนผลที่เกิดอาจจะมีหลายคนยอมรับไม่ได้ เช่น การระงับในบางโครงการ หรือเปลี่ยนแปลงด้านทิศทาง
      
       11 การแปลงรูปแบบด้านคุณค่าของลูกค้า เมื่อทุกอย่างภายในองค์กรพร้อมแล้ว การเผชิญหน้าขั้นต่อไปก็คือการเผชิญหน้ากับภายนอก โดยจุดเริ่มต้นก็คือลูกค้า
      
       CIO อย่างจ๊อบส์ จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือกิจการภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าภาคธุรกิจให้สามารถแสวงหาวิธีในการใช้ประโยชน์จากไอทีเพื่อสร้างโอกาสเพิ่มในการที่จะดึงดูดลูกค้าของกิจการเหล่านั้นได้มากขึ้น หรือนำเอาธุรกิจไปยื่นต่อหน้าลูกค้าเพื่อตัดสินใจเลือกให้ได้
      
       12.เมื่อผลดำเนินงานมีปัญหา การลงทุนในบุคลากรมักแพงขึ้น ซึ่งสำหรับจ๊อบส์แล้ว การดำเนินงานต้องอาศัยการลงทุนในคน เมื่อมีปัญหาไม่ควรจะลดจำนวนคนที่ลงทุนไป ด้วยการเลิกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายและขนาดกิจการ
      
       ในทางตรงกันข้าม กิจการควรจะทำอย่างไรให้แอปเปิลยังเป็นสถานที่ทำงานแห่งแรกที่พวกเขายังอยากจะทำงานด้วย
      
       สำหรับจ๊อบส์แล้ว เขาเป็น CIO ที่ให้ความสำคัญกับการธำรงรักษาทีมและลงทุนในบุคลากรในฐานะสินทรัพย์หลักที่สำคัญที่สุดของกิจการ และเขาเป็นคนหนึ่งที่พยายามทุกวิถีทางที่จะต่อต้านการเลิกจ้างพนักงาน
      
       13.ควรระมัดระวังอย่าให้ความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมและความสำเร็จของกิจการโดยรวม นำความล้มเหลวมาสู่กิจการ
      
       สำหรับจ๊อบส์ การที่แอปเปิลคิดว่ากิจการยังประสบกับความล้มเหลว หมายถึงการพยายามและค้นหานวัตกรรมต่อไป และนำสู่ความสำเร็จมากขึ้น การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น ลงทุนในเทคโนโลยีมากขึ้น
      
       ที่ผ่านมาบรรดานวัตกรรมต่างๆ ใหม่ๆ ของแอปเปิลมีความล้มเหลวบ้าง และบางนวัตกรรมก็ออกมาได้ดีอย่างเช่น ไอพอด และไอโฟน ที่นำกิจการสู่ความสำเร็จครั้งใหญ่
      
       นั่นหมายความว่า กิจการที่ประสบความล้มเหลว และไม่ประสบความสำเร็จเลย อาจจะมาจากการที่กิจการนั้นกลัวต่อความล้มเหลว จนไม่กล้าตัดสินใจใดๆ เสียมากกว่าปัจจัยภายนอกอื่น เรียกว่าแพ้ใจตัวเองนั่นเอง
      
       14. การทำให้ทีมงานยอมรับและนับถือในตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่จ๊อบส์ประสบกับตนเอง ในการที่เป็นนายที่ทำงานด้วยยาก เข้มงวด กดดัน แต่ทีมงานของจ๊อบส์ยังคงเต็มใจที่จะเสียสละทุกอย่างเพื่อร่วมแรงร่วมใจ และทำให้ผลงานออกแล้วเป็นที่ต้องการ
      
       ลูกน้องของเขาหลายคนบอกว่าคำสั่งของจ๊อบส์ เหมือนกับบัญชาจากพระเจ้า สิ่งที่เขาสร้างสรรค์เหมือนกับการปั้นขึ้นโดยพระเจ้า และมักจะได้รับการเชื่อถือ มั่นใจว่าถูกต้อง และต้องสามารถทำเงินให้กับกิจการได้

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  
http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?NewsID=9540000130841

ฟังเพลงสนุกมากมาย

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

10 ข้อเท็จจริงที่หายไปในประวัติศาสตร์


0.ทมัส อัลวา เอดิสัน ไม่ใช่คนประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลก
ในความเป็นจริงแล้ว โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าตามที่คนทั่วไปเข้าใจแต่อย่างใด หลักการของหลอดไฟฟ้าถูกพัฒนามาก่อนหน้านี้โดยนักประดิษฐ์หลายท่าน เช่น จูเซ็ปป์ สวอน (Juseph Swan) หรือ ไฮน์ริช เกอเบิล (Heinrich Goebel) อย่างไรก็ตามเอดิสันได้คำนึงถึงการนำหลอดไฟฟ้าไปใช้งานจริงในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง โดยเอดิสันได้ทำให้อายุการใช้งานของหลอดไฟฟ้ายาวนานพอที่จะนำไปใช้ได้อย่างสะดวกสบายในบ้านเรือนหรือร้านค้า นอกจากนั้นเอดิสันยังได้สร้างระบบผลิตและแจกจ่ายไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเอดิสันอีกว่า  สิ่งประดิษฐ์ภายใต้ชื่อของเขาและจดสิทธิบัตรเป็นจำนวนถึง 1,093 ชิ้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นมาเอง แต่เป็นการพัฒนาจากสิ่งประดิษฐ์ดั้งเดิมที่คิดค้นขึ้นโดยลูกจ้างของเขา เพราะเหตุนี้ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ ในเรื่องการอ้างผลงานเป็นของตัวแต่ผู้เดียว โดยไม่แบ่งปันให้กับผู้คิดค้นดั้งเดิม


9.เธอคือโป๊บ??

เมื่อวันก่อนผมได้ดูภาพยนตร์เรื่อง เธอคือโป๊บ (Pope Joan) ที่สร้างจากเค้าโครงในตำนาน(โดยเนื้อเรื่องเอามาจากนิยายอีกที) เป็นเรื่องราวในตำนานของหญิงสาวที่แต่งตัวเป็นพระชายและไปกรุงโรมเพื่อศึกษา ในที่สุดเธอก็ได้เป็นพระสันตะปาปา แต่เธอคลอดบุตรในขณะกำลังขึ้นม้า
ภาพยนตร์เรื่องนี้โดนแบนหลายประเทศมาก(ยกเว้นไทย) เพราะว่าเนื้อหาค่องข้างหมิ่นศาสนามา หนังพยายามบอกว่าเรื่องพระสันตะปาปาเป็นเรื่องจริง หากแต่ปัจจุบันเรื่องราวของพระสันตะปาปาหญิงโจน (Pope Joan หรือ Popess Joan) ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า มีตัวตนจริงๆหรือไม่  โดยตำนานกล่าวว่าพระสันตะปาปาหญิงโจนมี ชื่อเดิมคือโจฮานนา แองลิกัส (Johanna Anglicus) โดยใช้ชื่อผู้ชายว่าจอห์น (John) เกิดที่ไมนส์ (Mainz) เป็นผู้เชียวชาญศิลปวิทยาหลากหลายแขนง จนไม่มีผู้ทัดเทียม และภายหลังเธอเดินทางไปโรม ก็เปิดสอนวิชาศิลปศาสตร์จนที่เคารพรักแก่บรรดาศิษย์  จากนั้นก็เล่นการเมืองและถูกเลือกโดยพระสันตะปาปา ในขณะที่เธอเป็นพระสันตะปาปา เธอตั้งครรภ์โดยคนรักของเธอ โดยไม่รู้ว่า เมื่อไรจะถึงกำหนดคลอด เธอให้กำเนิดทารกเพศชาย และโดนการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมของกรุงโรม เธอต้องโดนลงโทษ โดยการผูกติดกับขาม้าแล้วก็ถูกลากไป และโดนโยนก้อนหินโดยประชาชนครึ่งหนึ่ง  แต่ไม่มีหลักฐานว่าที่ที่ฝังเธอเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ อาจจะเนื่องมากจากเหตุผลที่ว่า เธอเป็นผู้หญิง หรือมาจากความโง่ของหลักฐานก็ตาม และเรื่องราวของเธอถูกเขียนโดย(Martin of Opava) ใน Chronicon Pontificum et Imperatum แต่กระนั้นนักประวัติศาสตร์ และผู้เคร่งศาสนา ต่างไม่เชื่อว่า มีพระสันตะปาปาหญิงโจนมีตัวตนจริงๆ เป็นเพียงเรื่องโกหกและเป็นตำนานลอย ๆ เท่านั้น สาเหตุเพราะเรื่องนี้ไม่ได้ถูกพบในเอกสารที่เชื่อถือได้

8.รูปร่างที่แท้จริงของเทวรูปโคโลสซูสเป็นอย่างไรกันแน่?
นี้คือสิ่งมหัศจรรย์ที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์ยุคโบราณ  เทวรูปโคโลสซูสเป็นที่เกาะโรดส์ ประเทศกรีก หล่อด้วยทองบรอนซ์ ในท่ายืน สูง 100 ฟุตโดยเฉพาะฐานที่รองรับรูปหล่อนั้นสูงกว่าตึก 5 ชั้น พระหัตถ์ขวาถือดวงประทีป ตั้งอยู่หน้าเมืองโรดส์ประเทศกรีก สร้างโดยกษัตริย์แชรัสแห่งลินดัส เชื่อกันว่าเป็นรูปปั้นที่คอยกั้นอ่าวของเกาะแห่งนี้ของกรีกในทะเลเอเจียน สร้างเสร็จหลังจากใช้เวลา 12 ปี แล้วเสร็จเมื่อประมาณ 280 ปีก่อนคริสตกาล และต้องพังทลายลง เพราะแผ่นดินไหว ถูกทอดทิ้งเป็นเวลา 900 ปี จนถูกขายเป็นเศษเหล็ก ให้แก่ชาวเมืองซาราเซน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการสงคราม จนเราไม่ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์นี้เลยแม้แต่ซาก ส่วนภาพที่เห็นเป็นเพียงจินตนการของคนวาดเท่านั้น แต่ที่น่าเหลือเชื่อคือเอกสารหลายชิ้นพรรณารูปปั้นนี้ไม่เหมือนกันเลย บ้างก็บอกว่ารูปปั้นอ้าขาจนเรือรอดได้ บ้างก็บอกว่ารูปปั้นไม่ได้อ้าขา

7. แรงงานสร้างพีระมิดไม่ใช้ทาส?
จากที่เราอ่านประวัติศาสตร์เรามักเห็นฉากแรงงานสร้างพีระมิด โดยหนังสือบอกว่าพวกเขาเป็นทาสและมีคนโบยแส้ที่ด้านหลังใช่เปล่าครับ หากแต่ปัจจุบันความคิดนี้ต้องเปลี่ยนไปเมื่อนักโบราณคดีค้นพบสุสานในอียิปต์ ซึ่งช่วยพิสูจน์ว่าแรงงานที่ช่วยกันสร้างพีระมิดนั้นไม่ใช่ทาสอย่างที่เคยเข้าใจ แต่เป็นคนที่ได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดี มีการจ่ายค่าแรงรวมถึงมีการจัดอาหารให้รับประทาน 3 มื้อต่อวันเป็นอย่างดี อีกทั้งการสร้างสุสานใกล้กับที่ฝังศพของกษัตริย์  แสงให้เห็นว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ใช่ทาสแต่อย่างใด โดยคาดว่าแรงงานเหล่านั้นน่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ผู้มีความเชื่อว่าสิ่งที่ตนกำลังทำนั้น มีส่วนช่วยให้องค์ฟาโรห์ได้ไปจุติบนสวรรค์ และเมื่อถึงเวลาที่ตนจะจากโลกนี้ไปบ้าง เทพฟาโรห์ก็จะได้พิทักษ์ปกป้องตนต่อไป

6.ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไวกิ้ง
ไวกิ้งที่เราได้เห็นภาพยนตร์หลายเรื่องนั้น ส่วนใหญ่มักตัวใหญ่น่ากลัวสวมหมวกขนสัตว์ โหดร้ายป่าเถื่อนชอบปล้นทรัพย์ฆ่าและข่มขื่นหญิงชาวบ้าน อีกทั้งตัวสกปรก ไร้สมอง เรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายของยุโรปอย่างแท้จริง

                นี้คือความรู้ที่ผิด จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่าไวกิ้งไม่โหดร้ายอย่างที่คุณคิด ไวกิ้งไม่ใช่นักรบอย่างเดียว หากแต่เป็นพ่อค้าและนักตั้งถิ่นฐานที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนายุโรปกลาง พวกเขาอาบน้ำสัปดาห์ละครั้ง ในวันเสาร์เท่านั้น(อย่าลืมว่าอากาศยุโรปมันหนาว) ที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่พวกเขาสูงแค่ 170 ซม. ซึ่งไม่สูงอย่างที่เราเข้าใจกัน ผมและหนวดสีทองที่เราเห็นในภาพยนตร์เป็นเพียงอุดมคติความเชื่อในวัฒนธรรมไวกิ้งที่ใช้สบู่พิเศษในการแต่งไม่ใช้เป็นมาตั้งแต่เกิด อีกทั้งพวกเขาไม่ได้อาศัยเฉพาะสแกนดิเนเวีย พวกเขาอพยพไปหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย, แอฟริกา หรือแม้แต่อเมริกาเหนือ ส่วนพฤติกรรมที่ฆ่าและข่มขืนปล้มทรัพย์นั้นเป็นส่วนน้อยเท่านั้น แต่สิ่งที่เชื่อถือได้คือพวกนักบวชในยุโรปไม่ชอบพวกนี้เท่าไหร่ เนื่องจากครั้งหนึ่งพวกไวกิ้งเคยทำลายวัดและฆ่าพวกพระบาทหลวงหลายคน(ภายหลังไวกิ้งก็เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชน)

5.ครีโอพัตราไม่ใช่คนอียิปต์
คลีโอพัตรา ที่ 7 ฟิโลปา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ คลีโอพัตรา) เป็นราชินีแห่งอียิปต์โบราณ และเป็นสมาชิกคนสุดท้ายของราชวงศ์ปโตเลมีแห่งมาเซโดเนีย แต่จนบัดนี้ยังมีหลายคนเข้าใจว่าเธอเป็นคนอียิปต์(อย่างน้อยก็การ์ตูนญี่ปุ่นล่ะ) เพราะว่าเธอเป็นชาวกรีกแท้ๆ บิดาของพระนางคือปโตเลมีที่ 12 โอเลเตส และคาดว่าพระมารดาเป็นเชษฐภคินีของโอเลเตส ทรงพระนามว่า คลีโอพัตราที่ 5 ทรีฟาเอ พระนางทรงมีความเฉลียวฉลาดมาก ทรงแตกฉานถึง 14 ภาษา เช่น ภาษาฮิบรู ภาษาละติน ภาษามาซิโดเนีย ภาษาเอธิโอเปียน ภาษาซีเรีย ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอียิปต์ ซึ่งแม้แต่ในราชวงศ์ก็น้อยคนนักที่จะแตกฉานในภาษานี้ และเธอเป็นผู้ปกครองอียิปต์คนสุดท้ายที่มีเชื้อสายกรีก

 4.คิงอาเธอร์มีตัวตนในประวัติศาสตร์จริงเหรอ?
กษัตริย์อาเธอร์ (King Arthur) เป็นกษัตริย์อังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในตำนานเล่าขานในฐานะวีรบุรุษในยุคกลาง ซึ่งได้ปกป้องเกาะบริเตนจากการรุกรานของชาวแซ็กซอนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 รายละเอียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าขาน ตำนานพื้นบ้าน และวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยส่วนมากมักเกินจริงไปหน่อย เช่น มีพ่อมดเมอร์ลินเป็นผู้ช่วยทำสงคราม, อาเธอร์สามารถต่อสู้ตามลำพังด้วยมือเปล่า และสังหารศัตรูไปถึง 960 คน และแน่นอนเรื่องราวภูมิหลังที่แท้จริงทางประวัติศาสตร์ของตำนานกษัตริย์อาเธอร์เป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการมาเป็นเวลานานแล้ว หลายคนเชื่อว่าอาเธอร์เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6  แต่กระนั้นก็ยังขาดหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่นเพียงพอ(ปละหลักฐานส่วนใหญ่เป็นของปลอม) นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังโดยมากจึงไม่นับว่าอาเธอร์เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่มีตัวตนจริง นักประวัติศาสตร์ จนมีนักประวัติศาสตร์ออกมาบอกว่า "ไม่มีบุคคลใดในกรอบประวัติศาสตร์และตำนานที่จะทำให้นักประวัติศาสตร์เสียเวลามากเท่านี้”



3. เลดี้โกไดวา มีตัวตนอยู่จริงเหรอ??


เลดี้โกไดวา (Lady Godiva) เป็นสตรีสูงศักดิ์ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองโคเวนทรี (ประเทศอังกฤษมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 997-1067 เธอเป็นภรรยาของลีโอฟริก เอิร์ลแห่งเมอร์เซียและลอร์ดแห่งเมืองโคเวนทรี ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินอังกฤษ เป็นคนละโมบและกดขี่ชอบเก็บภาษีประชาชนอย่างบ้าเลือด แม้เลดี้โกไดวาเฝ้าขอร้องสามีให้ลดภาษี แต่เขาไม่เคยยอม

จนกระทั้งวันหนึ่งลีโอฟริกได้คิดสนุกเลยบอกเลี้โกไดวาว่าถ้าเธอกล้าเปลือยกายขี่ม้ารอบเมือง เขาจะยอมลดภาษีให้ตามที่ขอ ซึ่งการการกระทำดังกล่าวสำหรับผู้หญิงอังกฤษสมัยกลางย่อมถือเป็นเรื่องต่ำช้าอย่างยิ่ง แต่เลดี้โกไดวาก็ตัดสินที่จะยอมทำตามดังกล่าว โดยเธอได้กระจายข่าวบอกชาวเมืองให้พวกเขาร่วมมือด้วยการปิด ประตูหน้าต่างหลบอยู่ในที่พักอาศัยขณะเธอขี่ม้าผ่านเปลือยกาย ซึ่งชาวบ้านก็ร่วมมือเป็นอย่างดี(ความจริงมีชายคนหนึ่งแอบดูนาง หากแต่เขาถูกสวรรค์ลงโทษด้วยการทำให้ตาบอดในเวลาต่อมา และชายคนนั้นชื่อทอม จนเกิดสำนวนว่า “ทอมนักถ้ำมอง” Peeping Tom ในเวลาต่อมา)  จนนางสามารถทำสิ่งที่สามีบอกได้สำเร็จ และส่งผลให้สามีของเธอยกเลิกภาษาตามสัญญาที่ว่าไว้ อีกทั้งเธอก็ไม่ถูกประณามซ้ำยังชกลายเป็นวีรสตรีของชาวเมืองไปในทันที ทุกวันนี้ที่จัตุรัสกลางเมืองโคเวนทรีมีอนุสาวรีย์เลดี้โกไดวาตั้งอยู่อย่าง โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวเมืองภาคภูมิใจ ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1678 สภาเมืองโคเวนทรีได้เริ่มจัดให้มีขบวนแห่ "เลดี้โกไดวา" บันทึกไว้เป็นครั้งแรก โดยจัดหาผู้หญิงมาสวมผ้าสีเนื้อรัดกายให้ดูคล้ายเปลือยเปล่า นั่งบนหลังม้าแห่ไปรอบเมืองเพื่อรำลึกการกระทำอันงดงามของโกไดวา

ในขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลายคนไม่คิดว่าเรื่องของโกไดวาได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากหลักฐานระบุไว้เพียงว่าเธอเป็นภรรยาของเอิร์ลลีโอฟริก และข้อมูลยังบ่งชี้ว่าทั้งคู่ต่างก็มีน้ำใจงามและเคร่งศาสนา เช่นในปี 1043 ท่านเอิร์ลและเลดี้ได้บริจาคเงินพร้อมที่ดินเพื่อสร้างวัดในนิกายเบเนดิกทีนที่โคเวนทรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกับโบสถ์โคเวนทรีที่ถูกระเบิดทำลายไปบางส่วนในสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดแห่งนี้ประดับด้วยพลอยล้ำค่างดงามอย่างที่ไม่มีวัดใดในอังกฤษยุคนั้นเทียบได้ และในช่วงทศวรรษ1050 ทั้งสองยังบริจาคที่ดินและเงินมหาศาลเพื่อสร้างวัดและโบสถ์อีกหลายแห่ง เช่นที่ลินคอล์นเชียร์ ลีโอมินสเตอร์ และอีฟแชม นักประวัติศาสตร์หลายคนจึงไม่คิดว่าท่านเอิร์ลจะโหดหินจนโกไดวาต้องเปลือยร่างขี่ม้าขอความเป็นธรรมให้ประชาชน

ส่วนผู้ที่เชื่อว่าตำนานนี้เป็นเรื่องจริงก็จะอิงบันทึกเกร็ดประวัติศาสตร์อังกฤษฉบับภาษาละตินที่ชื่อ Flores Historiarum (Flowers of History) ของโรเจอร์แห่งเวนโดเวอร์ (Roger of Wendover) ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่ระบุเรื่องราวของเลดี้โกไดวาไว้ตามที่ระบุข้างต้น ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนแย้งว่าเวนโดเวอร์เป็นเพียงผู้บันทึกตำนานและเกร็ดประวัติศาสตร์ แต่ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเขียนบันทึกนี้ขึ้นเมื่อ 2 ศตวรรษหลังการตายของโกไดวา ข้อความดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักพอให้เชื่อถือ แม้จะมีบันทึกระบุว่าครั้งหนึ่งลีโอฟริกได้ยกเลิกภาษีให้ประชาชนจริง และประทับตราด้วยตราประจำตัวของเขาเองเลยก็ตาม ส่วนคนอื่นก็เสริมว่าบางทีเลดี้โกไดวาอาจไม่ได้ปลดเปลื้องเสื้อผ้า หากแต่ปลดเชิงสัญลักษณ์ คือปลดทั้งเครื่องประดับกายและผม เพราะเมื่อสตรีสูงศักดิ์ปราศจากเครื่องประดับก็เท่ากับลดเกียรติของตนลงเทียบเท่าสตรีสามัญ

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของโกไดวาจะเป็นเพียงตำนานหรือความจริงย่อมยากที่จะพิสูจน์ไม่ต่างจากทุกตำนานในโลก หากเหนือข้อเท็จจริงย่อมเป็นคุณค่าของตำนานที่ถูกส่งผ่านมากับกาลเวลา เฉกเช่นเรื่องของเลดี้โกไดวาที่เนื้อหาแท้จริงได้แทรกตัวอยู่ทั้งในบทกวี รูปปั้น ภาพเขียนของจิตรกรหลายยุคสมัย หรือกระทั่งในกระดาษห่อช็อกโกแลตยี่ห้อโกไดวา


2.สวนอีเดนอยู่ที่ไหนกันแน่?

สวนอีเด็น หรือ สวนเอเดน (Garden of Eden) เป็นสถานที่บรรยายไว้ในพระธรรมปฐมกาลว่าเป็นสถานที่มนุษย์สองคนแรกที่พระเจ้าสร้างอาดัม และ อีฟ  โดยสวนนั้นบรรยายไว้ว่าสวยงามราวกับสวรรค์ มีพืชพรรณอาหารอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์ป่า แม่น้ำใสสะอาด แต่ปัญหาคือถ้าสถานที่นี้มีจริง มันจะอยู่จุดไหนของโลกกันแน่ โดยหลายคนเชื่อว่าสวนอีเดนนี้อยู่ในโมโสโปเตเนีย ทางภาคกลาง เนื่องจากบันทึกการสร้างโลกในพระธรรมปฐมกาลได้กล่าวถึงที่ตั้งของสวนอีเด็นว่าอยู่ในบริเวณแม่น้ำสำคัญสี่สาย: แม่น้ำพิชอน แม่น้ำกิฮอน แม่น้ำไทกริส และแม่น้ำยูเฟรติสซึ่งอยู่ในบริเวณอาร์เมเนีย, ยอดเขาอาระรัต, เยเรวาน หรือที่ราบสูงอาร์เมเนีย)  (พระธรรมปฐมกาล บทที่ 2 ข้อที่ 10-14) ซึ่งอยู่ในบริเวณประเทศอิรักในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณคอเคซัสโบราณโดยเฉพาะบริเวณใกล้กับอาร์เมเนีย แต่ที่ตั้งของแม่น้ำทั้งสี่ยังเป็นที่ถกเถียงกันและยังไม่มีหลักฐานเป็นที่แน่นอนที่สนับสนุนที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำนอกจากที่กล่าวในพระธรรมปฐมกาลเอง และ วรรณกรรมยิว-คริสเตียนเช่น “จูบิลี” สมมุติฐานอื่นก็ว่าตั้งอยู่ที่เมโสโปเตเมีย ทวีปแอฟริกา หรือ อ่าวเปอร์เซีย สมมุติฐานหลังมาจากหลักฐานของลุ่มแม่น้ำสี่สายที่มาพบกันที่เป็นที่ผลิตทองคำ และยางไม้หอม ซึ่งตรงกับการพรรณนาการสร้างโลกดังกล่าว


1 Prester John
 
เพรสเตอร์ จอห์น เป็นชื่อของกษัตริย์ในตำนานยุคกลางของยุโรปครับ โดยเชื่อว่ากษัตริย์องค์นี้อยู่ในดินแดนหนึ่งในเอเชีย หรืออาจเป็นแอฟริกา โดยดินแดนแห่งนั้นเป็นเดินแดนแห่งความเพียบพร้อม ไม่มีคนจน ไม่มีโจร ไม่มีคนพูดโกหกหรือมุ่งร้ายต่อกัน นอกจากจะเป็นกษัตริย์แล้วเพรสเตอร์ จอห์นยังเป็นประมุขศาสนาอีกด้วย ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีคนนับถือศาสนาคริสต์อย่างเคร่งครัด กล่าวกันว่าเขาสืบเชื้อสายจากมากี 3 ท่านที่เดินไปให้พรแก่พระเยซูเมื่อครั้งประสูติบนโลกอีกด้วย เรื่องราวของเพรสเตอร์ จอห์นและอาณาจักรอันสมบูรณ์นั้นได้ถูกกล่าวถึงในบันทึกของบาทหลวงชาวเยอรมันท่านหนึ่ง ในสมัยเกิดสงครามครูเสดหลังชาวคริสต์ยึดดินแดนศักดิ์สิทธิจากชาวมุสลิม พวกเขาพยายามค้นหาอาณาจักรแห่งนี้ หากแต่ไม่พบ แต่เชื่อกันว่าดินแดนแห่งที่ว่าน่าจะเป็น อินเดีย หรือไม่ก็เอธิโอเปีย หรือจะอยู่ในอบิสซิเนีย

ผู้แต่ง : Cammy

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากhttp://www.dekclub.com/news4468.html